โลกที่(เต่า)ผู้ชายกำลังจะสูญพันธุ์
งานวิจัยล่าสุดเปิดเผยว่าปรากฏการณ์โลกร้อนได้ทำให้ประชากรเต่าตนุ (Green sea turtle: Chelonia mydas) ใน Great Barrier Reef กลายเป็นตัวเมียเกือบทั้งหมด (99%) แล้ว
นักวิทยาศาสตร์เป็นกังวลว่าสัดส่วนระหว่างเพศที่ผิดปกติเช่นนี้จะคุกคามประชากรเต่าทะเลในอนาคตอันใกล้
เต่าทะเลเป็นหนึ่งในสัตว์ที่อุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศของตัวอ่อน ซึ่งสัดส่วนของเต่าตัวเมียจะสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของชายหาดที่วางไข่สูงขึ้น
งานวิจัยล่าสุดนี้เป็นความร่วมมือระหว่าง NOAA California State University และ WWF Australia ตีพิมพ์ในวารสาร Current Biology โดยได้ศึกษาประชากรเต่าที่มีลักษณะแตกต่างทางพันธุกรรมสองกลุ่มใน Great Barrier Reef แล้วพบว่าประชากรเต่าตนุทางตอนเหนือราว 200,000 ตัวในปัจจุบันเป็นตัวเมียเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยลูกเต่าและเต่าวัยรุ่นทั้งหมดเป็นตัวเมียกว่า 99% ในขณะที่ตัวเต็มวัยก็เป็นตัวเมียถึง 87% ในขณะที่ประชากรทางตอนใต้ก็มีสัดส่วนตัวเมียเกือบ 70%
จากข้อมูลระยะยาวทำให้นักวิทยาศาสตร์รู้ว่า หากอุณหภูมิของหาดทรายต่ำกว่า 27.7 องศาเซลเซียส ลูกเต่าจะฟักออกมาเป็นตัวผู้ แต่หากอุณหภูมิสูงกว่า 31 องศาเซลเซียส ลูกเต่าที่ฟักออกมาจะเป็นตัวเมีย ซึ่งหากอุณหภูมิอยู่ระหว่างช่วงดังกล่าว หรือแปรผันกลับไปกลับมาตามธรรมชาติ จะทำให้ได้ลูกเต่าทั้งสองเพศผสมกันไป แต่ยิ่งอุณหภูมิของหาดทรายสูงขึ้นเท่าไหร่ สัดส่วนของเต่าตัวเมียต่อเต่าตัวผู้ก็จะยิ่งสูงขึ้นเท่านั้น
“จากข้อมูลเต่าทะเลและอุณหภูมิชี้ให้เห็นว่า ประชากรเต่าทะเลทางตอนเหนือของ Great Barrier Reef ขยายพันธุ์ออกมาเป็นตัวเมียเป็นส่วนใหญ่มาเป็นเวลากว่าสองทศวรรษแล้ว และเป็นไปได้ว่าประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้อาจจะกลายเป็นตัวเมียทั้งหมดในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า” งานวิจัยชิ้นนี้สรุป
“อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเพียงไม่กี่องศาก็ทำให้ไข่เต่าทั้งหมดฟักออกมาเป็นตัวเมียทั้งหมดได้แล้ว แต่การฟักในอุณหภูมิที่สูงผิดปกติ ไม่เพียงแต่จะได้แต่ลูกเต่าตัวเมียเท่านั้น แต่ยังทำให้อัตราการตายของลูกเต่าสูงขึ้นตามไปด้วย สภาวะโลกร้อนที่ส่งผลโดยตรงต่ออุณหภูมิจึงเป็นภัยคุกคามที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับประชากรเต่าทะเลกลุ่มนี้” เปเปอร์นี้ทิ้งท้าย
Dr Michael Jensen นักวิจัยหลักจาก NOAA กล่าวว่าผลการศึกษาดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจและค่อนข้างน่ากังวลอย่างยิ่ง แต่ก็ช่วยให้เราเข้าใจวิกฤติการณ์ที่ประชากรเต่าทะเลกำลังเผชิญอยู่จากภาวะโลกร้อน
Dermot O’Gorman CEO ของ WWF Australia ย้ำว่า นี่คือผลกระทบที่ชัดเจนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เราเจอปรากฏการณ์ฟอกขาวอย่างรุนแรงสองปีซ้อน ซึ่งเป็นอะไรที่เห็นได้ชัดๆ แต่ผลกระทบของโลกร้อนต่อประชากรเต่าทะเลเป็นอะไรที่มองไม่เห็น จนกระทั่งเรามีข้อมูลระยะยาวอย่างงานวิจัยชิ้นนี้ นี่เป็นหลักฐานล่าสุดว่าเราต้องรีบแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน”
กรมสิ่งแวดแวดล้อมและคุ้มครองมรดกทางธรรมชาติ ของรัฐควีนส์แลนด์ได้พยายามทดสอบมาตรการต่างๆเพื่อลดอุณหภูมิของหาดทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของเต่าทะเล เช่นการทำที่บังแดด หรือแม้แต่ฝนเทียมเพื่อลดอุณหภูมิของชายหาด Dr Colin Limpus หัวหน้านักวิทยาศาสตร์กล่าว อย่างไรก็ตามมาตรการต่างๆ ยังมีข้อจำกัดว่าในแง่การปฏิบัติที่ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางอย่าง Great Barrier Reef
แม้เต่าตนุจะเป็นเต่าที่มีประชากรมากที่สุดในท้องทะเล แต่ Great Barrier Reef ก็เป็นแหล่งอนุรักษ์เต่าตนุที่สำคัญที่สุดในโลก อนาคตของประชากรเต่าตนุที่นี่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นแนวโน้มที่น่าจับตาว่าจะมีผลกระทบในลักษณะที่คล้ายกันในภูมิภาคอื่นๆของโลกด้วยหรือไม่
การอนุรักษ์เต่าตัวผู้ตัวเต็มวัยจากภัยคุกคามต่างๆ จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก เพราะพ่อพันธุ์เต่ากำลังจะกลายเป็นสัตว์หายากที่อาจจะสูญพันธุ์ไปก่อนใครเพื่อน
อ้างอิง Jensen et al., 2018, Current Biology 28, 1–6
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม
Environmental Warming and Feminization of One of the Largest Sea Turtle Populations in the World: https://goo.gl/1sStV9
Photo by The Sun