เปลี่ยนโลกด้วย Lifestyle กับ กรณิศ ตันอังสนากุล

เปลี่ยนโลกด้วย Lifestyle กับ กรณิศ ตันอังสนากุล

"เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกด้วยวิธีเดียวกับที่เราสร้างปัญหาขึ้นได้.. เราต้องเริ่มด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของเราเอง ละความสะดวกสบายไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินไป และที่สำคัญคือเราต้องมีความตระหนักรู้ก่อน ว่าชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เราต้องให้ความหวังกับตัวเอง และกับทุกคนว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแล้ว ทันไม่ทันเราก็ทำเต็มที่ของเรา" กรณิศ ตันอังสนากุล 

เชื่อหรือไม่ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือมีส่วนทำให้กอริลล่าเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ และการแปรงฟันอาจทำให้ป่าถูกทำลาย?

หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งในหัวข้อร้อนแรงระดับสากล เมื่อมนุษย์ใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศรอบตัวโดยปราศจากการตรึกตรอง โลกจึงส่งสัญญาณเตือนแก่ผู้อาศัยในรูปแบบมหันตภัยทางธรรมชาติ ทั้งภาวะโลกร้อน ฤดูกาลเปลี่ยนแปลง และการเสื่อมโทรมของทรัพยากร สร้างผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินอย่างถ้วนทั่ว

ภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถูกจับตามองในฐานะต้นเหตุของปัญหา แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวันของมนุษย์ก็ส่งเสริมการทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งทางตรงและทางอ้อมได้ไม่แพ้กัน มาวันนี้ การดูแลรักษาสมบัติจากธรรมชาติคือหน้าที่ของทุกคน การบ่มเพาะ ‘ไลฟ์สไตล์’ เพื่อโลกอันยั่งยืนจึงเป็นกุญแจสำคัญของการเปลี่ยนแปลง

ไลฟ์สไตล์ในปัจจุบันของเราสร้างปัญหาอย่างไร สิ่งใดที่ควรลด พฤติกรรมใดที่ควรเปลี่ยน และต้องทำอย่างไรจึงจะช่วยโลกได้ทันเวลา?

ร่วมค้นหาคำตอบในรายการ 101 One-on-One กับ กรณิศ ตันอังสนากุล ReReef Co-Founder และนักวิจัยด้านธุรกิจยั่งยืน ดำเนินรายการโดย โตมร ศุขปรีชา เป็นบทสนทนาที่เล่าถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หัวใจของการเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงทางเลือกใหม่ของการใช้ชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียง

ทุกวันนี้โลกมีปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมหลายเรื่อง คุณคิดว่าปัญหาใหญ่ที่สุดคืออะไร

ปัญหาใหญ่ที่ได้รับการพูดถึงมากที่สุดทั้งในระดับโลก จนมาถึงระดับภูมิภาคทวีปและระดับประเทศคือปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (climate change) จากภาวะโลกร้อน โลกร้อนเกิดจากก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ ทั้งเรื่องของการใช้ชีวิตประจำวัน การใช้พลังงาน การเดินทาง ทั้งหมดมีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น ถ้าถามว่าทำไมภาวะโลกร้อนถึงส่งผลกระทบรุนแรงต่อเรา อาจต้องย้อนไปดูว่าเราได้อะไรจากธรรมชาติบ้าง

สิ่งที่เราได้จากธรรมชาติคือคุณประโยชน์มากมายที่เรียกว่า ‘นิเวศบริการ’ (ecosystem service) ซึ่งอาจจะมาในรูปของน้ำสะอาด น้ำจืด อาหารต่างๆ และอะไรที่เรานึกไม่ถึง เช่น ป่าชายเลนทำหน้าที่ควบคุมการกัดเซาะชายฝั่ง โลกของเราที่ทำหน้าที่ควบคุมสภาพอากาศให้เราใช้ชีวิตอยู่ หรือแม้แต่คุณประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพที่เราอาจจะยังนึกไม่ออกในตอนนี้ แต่ในอนาคตอาจเป็นแหล่งที่ใช้ผลิตยารักษาโรคตัวใหม่ๆ ขึ้นมา

การที่โลกมีอุณหภูมิผันผวนกระทบเรื่องของอาหารและสิ่งมีชีวิต อย่างพืชบางชนิด พออุณหภูมิเปลี่ยนไปแค่ 1-2 องศา ผลผลิตก็ไม่เหมือนเดิมแล้ว หรือปะการังที่เรียกได้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศที่เปราะบางก็ได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนจนเรียกได้ว่ากำลังอยู่ในสภาวะวิกฤต สุดท้ายผลกระทบที่เกิดต่อนิเวศบริการต่างๆ จะกระทบมาสู่ความเป็นอยู่ของมนุษย์เอง ประชากรในแต่ละที่ของโลกอาจได้รับผลในแง่มุมที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรมันก็จะกระทบเราในทางใดทางหนึ่ง

กิจกรรมในชีวิตประจำวันของเราที่ทำร้ายนิเวศบริการมีอะไรบ้าง

เรื่องนี้อาจจะไม่ได้โฟกัสอยู่แค่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเดียว แต่รวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ นานาที่เกิดจากเรา เริ่มตั้งแต่เราตื่นขึ้นมา

ตัวอย่างที่ 1 การล้างหน้าแปรงฟัน  พวกยาสีฟัน สบู่ แชมพู จะมีส่วนประกอบของน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่อยู่ในขนมขบเคี้ยวด้วย 80-90 เปอร์เซ็นต์ของน้ำมันปาล์มที่ผลิตมาให้เราใช้มาจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย เขาจะถางป่าเพื่อปลูกต้นปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นการทำลายป่าเขตร้อนที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทำลายที่อยู่อาศัยของสัตว์หายาก เช่น ลิงอุรังอุตัง เสือโคร่ง และเวลาเขาเผาป่า จะเกิดควันคล้ายๆ กับหมอกควันในภาคเหนือของเรา ส่วนแปรงสีฟัน ถึงใช้นานหน่อยแต่ก็ใช้ครั้งเดียวทิ้ง ก็เกิดเป็นขยะตกค้างเยอะเหมือนกัน อย่างที่เคยมีภาพของกรีนพีซที่เป็นภาพขยะแปรงสีฟันเต็มชายหาด

ตัวอย่างที่ 2 การแต่งตัว  เส้นใยเสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมคือผ้าฝ้ายกับโพลีเอสเตอร์ ฝ้ายเป็นพืชที่ใช้ที่ดินและน้ำเยอะมากในการเพาะปลูก ส่วนโพลีเอสเตอร์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเลียม พอผลิตเป็นเสื้อผ้าต้องผ่านกรรมวิธีที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ยกตัวอย่างเช่นเอาผ้าฝ้ายมาทำเป็นเสื้อสกรีนลาย ก็มีส่วนของสารเคมี การแปรรูป การสกรีน ซึ่งบางทีการทิ้งเสื้อผ้าที่เราไม่ใส่ เป็นฝ้ายหลายๆ ชุดก็อาจจะคิดว่าทำมาจากธรรมชาติ นำไปฝังกลบเดี๋ยวก็ย่อยสลายไปเอง แต่เสื้อของเรามีสกรีนสี การย้อม การฟอกที่เป็นสารเคมี พวกนี้จะยังคงตกค้างอยู่ที่สภาพแวดล้อมของเรา

ถ้าจะไปถึงประเด็นอื่นที่นอกเหนือจากผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมหรือสารตกค้าง ฝ้ายอาจจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของแรงงานเด็กด้วย เพราะการเก็บตัวฝ้าย เขามักจะใช้เด็กไปเก็บเพราะว่ามือเล็ก คุณภาพฝ้ายจะดี หรือเรื่องโรงงานที่จ้างงานไม่เป็นธรรมอย่างที่เราเคยได้ยินข่าวจากบังกลาเทศ หรือแถบเอเชียใต้

ตัวอย่างที่ 3 การขับรถไปทำงาน ชัดเจนอยู่แล้วเรื่องปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีข้อจำกัดในการเปลี่ยนจากการขับรถไปใช้ระบบขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าพูดถึงเรื่องผลกระทบจากส่วนประกอบในรถ ต้องมาดูว่ารถประกอบไปด้วยอะไรบ้าง แน่นอนว่าถ้าเป็นเหล็กหรือโลหะต้องเกี่ยวกับเหมือง ซึ่งเหมืองเองมีทั้งผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสังคม เรื่องสารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำ รวมถึงเรื่องของสวัสดิภาพแรงงานต่างๆ นานา ต่อให้ไม่ใช่รถ แต่เป็นสิ่งอื่นที่มีวัตถุดิบเหล่านี้ก็เป็นไปได้ว่าจะเกี่ยวข้องกับเรา

ตัวอย่างที่ 4 การใช้โทรศัพท์  เมื่อสักสองปีก่อน มีข่าวกอริลล่าฮารัมเบโดนยิง ทำให้เราสงสารกันมาก แต่จริงๆ แล้วการที่เราใช้โทรศัพท์มือถือหรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์กันอยู่ทุกวันนี้ ก็มีส่วนในการสร้างความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ของ Grauer’s Gorilla ที่แอฟริกาเหมือนกันถามว่าเกี่ยวข้องได้อย่างไร ในโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ จะมีส่วนประกอบที่เป็น ‘แร่ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง’ ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Conflict Mineral’ คือทองคำ ดีบุก ทังสเตน แล้วก็โคลแทน ที่หาจากประเทศแถบแอฟริกา ประเทศที่ผลิตและส่งออกโคลแทนเยอะที่สุดคือคองโก แร่เหล่านี้มีมูลค่ามหาศาล นำไปสู่การแก่งแย่งทรัพยากร แย่งที่ดิน รวมไปถึงการทำเหมืองที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นอันตรายต่อคนงาน และส่งผลต่อถิ่นที่อยู่อาศัยของกอริลล่า ด้วยสภาพร่างกาย การรวมฝูง การเป็นสัตว์ขนาดใหญ่ที่เคลื่อนที่ช้า พวกคนงานก็ไปล่ามาทำอาหาร นอกจากกอริลล่าแล้ว ด้วยความที่อยู่ในป่า อาจจะมีผลพวงอย่างเช่นการล่าสัตว์ป่าชนิดอื่นเพื่อนำไปขายด้วย ส่งผลกระทบต่อเรื่องสัตว์หายาก

งานวิจัยชิ้นหนึ่งบอกว่ามีโทรศัพท์ที่ผลิตออกมาแล้วไม่ได้ใช้ที่อังกฤษประมาณ 160 ล้านเครื่อง ที่อเมริกาอีกประมาณ 130 ล้านเครื่อง ที่สำคัญคือต้องถามด้วยว่าเราเปลี่ยนโทรศัพท์กันบ่อยแค่ไหน เครื่องที่เราทิ้ง ส่วนตัวเชื่อว่ามันยังมีส่วนที่นำออกไปใช้ได้ต่อ แต่เข้าใจว่ายังไม่มีระบบที่รับคืนไปถอดส่วนต่างๆ กลับมาใช้

เรื่องพวกนี้เราอาจจะคิดไม่ถึงเพราะว่าไกลตัวเรามาก คงไม่มีใครตื่นขึ้นมาแล้วนั่งคิดว่าสิ่งที่เราใช้ สิ่งที่เรากินมาจากไหน มีส่วนประกอบของอะไรบ้าง แล้วแต่ละอย่างสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างไร มันเป็นเรื่องยากของผู้บริโภคอย่างเราที่จะมานั่งหาข้อมูล แต่เราต้องเริ่มมานึกถึงเรื่องพวกนี้ได้แล้ว

พลาสติกก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเราตลอดเวลา

เข้าใจว่านี่เป็นเรื่องที่มาแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วย ที่มาแรงในประเทศไทยเพราะมีงานวิจัยออกมาว่าเราเป็นมหาอำนาจที่ปล่อยขยะพลาสติกลงมหาสมุทรมากที่สุดติดท็อป 5 ของโลก เคียงคู่กับจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย

ตั้งแต่เริ่มคิดค้นพลาสติกได้ช่วงปี 1950 เราผลิตพลาสติกมาแล้ว 8 พันล้านตัน ซึ่งกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ก็ยังอยู่ในโลก พลาสติกส่วนใหญ่จะถูกทิ้งอยู่ที่ทะเล ปริมาณในปัจจุบันเทียบได้กับการที่มีรถขยะหนึ่งคันเทพลาสติกลงทะเลทุกหนึ่งนาที อย่างปีที่ผ่านมา จากสถิติของทั้งโลกพบว่า น้ำขวดซึ่งผลิตปีละประมาณห้าแสนล้านขวดพลาสติก มีไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ที่กลับไปสู่การรีไซเคิล ซึ่งจริงๆ พลาสติกแทบทุกสิ่งรีไซเคิลได้ เคยไปคุยกับผู้ผลิตพลาสติกมา เขาบอกว่าเขารีไซเคิลได้หมด ขอเพียงเก็บมาให้ถึงเขาได้ก็แล้วกัน

ในระดับโลกให้ความสำคัญกับเรื่องขยะพลาสติกมาก เพราะมีการค้นพบชิ้นส่วนไมโครพลาสติกในอาหารของเรา

ไมโครพลาสติกคืออะไร 

ไมโครพลาสติกคือพลาสติกชิ้นเล็กกว่า 5 มิลลิเมตร ไมโครพลาสติกมีที่มา 2 แบบ แบบแรกคือเกิดมาเล็กอยู่แล้ว เรียกว่า primary micro plastics เช่น เม็ดบีดส์ที่อยู่ในโฟมล้างหน้า แบบสองคือเกิดจากชิ้นใหญ่ที่สลาย ขยะพลาสติกเมื่อปนเปื้อนสู่ทะเล ด้วยคลื่นลมต่างๆ นานา สักพักก็แตกเป็นชิ้นเล็กๆ แต่ว่ามันไม่ได้หายไป

แล้วตรงนี้เข้ามาสู่ห่วงโซ่อาหารของเราได้อย่างไร สัตว์น้ำหลายชนิดเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาหารก็เข้าไปกิน  ปลาใหญ่กินปลาเล็กไปเรื่อย และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารของเราในที่สุด นอกจากนี้เขายังค้นพบว่ามีการปนเปื้อนในน้ำประปาซึ่งบางที่เขาดื่มน้ำประปากัน แล้วก็พบในเกลือ เพราะเกลือก็มาจากทะเล

อีกรูปแบบหนึ่งของไมโครพลาสติกซึ่งเรามองด้วยตาเปล่าไม่เห็นคือ ไมโครไฟเบอร์ ที่หลุดมาจากเสื้อผ้า เวลาเราซักผ้าหนึ่งตัวก็หลุดออกมาเป็นแสนๆ ชิ้นสู่ท่อระบายน้ำ การดักกรองของระบบระบายน้ำยังไม่สามารถกรองตัวนี้ได้ มันก็จะไปตามท่อ สู่สภาพแวดล้อม และลงทะเล

การกินพลาสติกเหล่านี้มีผลเสียต่อร่างกายอย่างไร

เท่าที่ศึกษามายังไม่เจอ แต่ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจที่เรายังไม่เจอว่าส่งผลต่อมนุษย์อย่างไร เพราะมีการศึกษาพบว่ามันส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทของสัตว์น้ำตัวเล็กๆ พอรู้ว่าสัตว์เล็กๆ ได้รับผล เราก็กลัวในตัวพลาสติกเองจะประกอบไปด้วยสารเติมแต่งที่เป็นสารเคมีต่างๆ เพื่อให้มีคุณสมบัติตามที่เราต้องการใช้งาน ซึ่งสารเคมีก็มีผลต่อสุขภาพ เรารู้ว่าสารพวกนี้ส่งผลอย่างไรต่อร่างกายเรา แม้ยังไม่รู้ว่ากินไมโครพลาสติกแล้วเป็นอย่างไร แต่มันเกิดจากความคิดว่าเม็ดพลาสติกมีสารเหล่านี้อยู่ มันก็อาจจะ ‘เป็นไปได้’ ที่จะส่งผลเสียจากสารเหล่านั้น

อะไรคือเหตุผลสำคัญที่เราไม่สามารถทำการศึกษาเรื่องผลกระทบจากการกินไมโครพลาสติก

เคยได้ทำวรรณกรรมปริทัศน์ (Literature Review) การศึกษาเกี่ยวกับไมโครพลาสติก มีประโยคหนึ่งที่เราอ่านแล้วอึ้งไป คือเขาบอกว่า ‘เราไม่สามารถหาคนที่ปลอดพลาสติกมาศึกษาได้’ ซึ่งเป็นไปได้สูงมากที่ทุกคนจะมีพลาสติกในร่างกาย เพราะถ้ามันอยู่ในปลาแล้วเรามองไม่เห็น เรากินปลาเข้าไป มันก็อยู่ในร่างกายเรา

ผลกระทบอื่นๆ จากขยะพลาสติกที่มีต่อสิ่งมีชีวิตเป็นอย่างไร

มีสัตว์ทะเลจำนวนมากได้รับผลกระทบจากพลาสติกที่ลอยอยู่ในทะเล ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ หนึ่ง การเข้าไปติดพันร่างกาย  สอง คือการกลืนกิน การติดพันร่างกายอาจจะทำให้เขาเคลื่อนไหวไม่สะดวก ส่งผลต่อการไล่ล่าอาหาร และเสียชีวิตในที่สุด ส่วนการกลืนกินก็อาจทำให้ตายช้าๆ หรือถ้ากินแล้วติดคอก็คงตายเลย

หลายคนอาจจะเคยเห็นภาพสัตว์ที่ตายแล้วผ่าท้องออกมามีแต่พลาสติก ทั้งวาฬ เต่า หรือนก ก็เกิดจากการกลืนกินพลาสติกเข้าไปเพราะหลงคิดว่าเป็นอาหารบ้าง หรืออาจกินอาหารที่มีพลาสติกมาอีกทีหนึ่ง มันสะท้อนว่าสิ่งที่เราบริโภคหรือใช้ในชีวิตประจำวันส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นด้วย ถ้าเราลด เลิกใช้ ก็จะเป็นอะไรที่ดีที่สุด การลดนั้นขอให้เป็นตัวเลือกแรกเลย ไม่ใช่แค่พลาสติก แต่เป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่ใช้ทรัพยากรในการผลิต ถ้ากรณีไหนที่จำเป็นต้องใช้อยู่ ก็ควรหาทางเลือกอื่นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า สร้างผลกระทบน้อยกว่า

เราต้องเปลี่ยนไลฟ์สไตล์อย่างไรจึงจะเปลี่ยนโลกได้ 

ตอนนี้นึกถึงคำที่เรียกว่าการบริโภคอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อหนึ่งใน ‘Sustainable Development Goals’ ที่พูดกันทั่วโลกว่า การดำเนินวิถีชีวิตของเราต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด การบริโภคสินค้าหรือบริการต่างๆ ที่ตอบสนองความต้องการของเรา ต้องไม่ไปลิดรอนสิทธิในการสนองความต้องการของคนในอนาคต

ความหมายคือเราต้องบริโภคอะไรก็ตามที่สร้างผลกระทบน้อยที่สุด ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด เปลี่ยนพฤติกรรม บางสิ่งที่ลดการใช้ได้ก็ลดก่อนเป็นทางเลือกแรก สิ่งที่ลดไม่ได้ก็หางทางเลือกอื่นทดแทน

ในปัจจุบันยอมรับว่าการที่จะให้ผู้บริโภคมานั่งย้อนรอย สืบเสาะว่าแต่ละสิ่งที่ใช้มีที่มาอย่างไรก็คงยาก แต่สินค้าหลายชนิดที่มีตัวฉลากเป็นมาตรฐานสินค้า ตรงนี้ก็ช่วยเราได้เหมือนกัน

ASC คือสัตว์น้ำที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ส่วนปลาสีน้ำเงินเป็นปลาที่จับได้จากการประมงอย่างยั่งยืน  RSPO คือปาล์มน้ำมันที่ผลิตมาอย่างยั่งยืน FSC คือการผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์ไม้ต่างๆ ส่วนรูปที่เป็นกบคือมาตรฐานที่รับรองว่าผลิตภัณฑ์นี้ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า

ในความหมายของความยั่งยืน นอกจากประเด็นทางสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีมิติด้านแรงงาน สังคม ชุมชนด้วย ถ้าสัญลักษณ์ Fair trade นี้จะเน้นเรื่องความเป็นธรรมกับคู่ค้า ผู้ผลิตรายย่อย คืออย่างน้อยต้องไม่มีการกดราคากัน

มาตรฐานการรับรองเหล่านี้มีในประเทศไทยหรือยัง

มีในบางสิ่ง เช่น ชา ส่วนใหญ่อาจจะต้องไปดูในซูเปอร์มาร์เก็ตที่มีของจากต่างประเทศ แต่ FSC จะเห็นบ่อยในร้านหนังสือ ส่วน ASC เข้าใจว่าเพิ่งมีฟาร์มเพาะเลี้ยงกุ้งรายแรกในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานนี้ทั้งที่พูดกันมาหลายปีแล้ว หรือ RSPO ผู้ผลิตดังๆ อย่างยูนิลีเวอร์เขาก็ให้คำมั่นเรื่องการเสาะหาน้ำมันปาล์มที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้แทบจะ 100 เปอร์เซ็นต์ และอยู่ในขั้นดำเนินการให้เป็น 100 เปอร์เซ็นต์

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าที่มีตราประทับจะเป็นเช่นนั้นจริง

เราไม่รู้ นี่อาจจะเป็นจุดอ่อนของตราเรื่องความน่าเชื่อถือ แต่ต้องบอกว่ามาตรฐานพวกนี้เสียเงินในกระบวนการการรับรอง นอกจากนี้ในแต่ละมาตรฐานก็แข่งขันกัน ถ้ามีคนไปเปิดโปงสินค้า ค้นพบว่าไม่จริงตามที่ได้ตรามาก็จะสั่นคลอนความเชื่อมั่นของการรับรองมาตรฐาน นั่นก็เหมือนกับเราทุกคนได้เข้าไปตรวจสอบกลายๆ

ด้านสินค้าออร์แกนิค หรือสินค้าปลอดสารพิษ ประเทศไทยมีหน่วยงานหรือองค์กรที่คอยตรวจตราสินค้าเหล่านี้บ้างหรือไม่ 

ในประเทศไทยมี Organic Thailand ของต่างประเทศจะเป็น IFOAM USDA สินค้าออร์แกนิคจะมีตรารับรองของเขา เท่าที่เห็นในตลาดไทยมีประมาณ 4-5 แบบ ซึ่งแต่ละแบบมีความเข้มข้นของการผ่านเงื่อนไขที่ต่างกัน ซึ่งอันนี้คงต้องหาข้อมูลเพิ่มในรายละเอียด แต่ที่น่ากลัวคือเมื่อสักประมาณปีที่แล้ว มีการตรวจพบสารเคมีในผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคอยู่ดี ทำให้เราไม่รู้สึกเชื่อมั่นในตราเหล่านี้ ซึ่งคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปว่าจะปรับปรุงอย่างไรบ้าง

ปัญหาหนึ่งซึ่งคนมักถามคือทำไมการใช้ชีวิตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมถึงแพง 

ต้องบอกว่าบางอย่างที่แพงเพราะมันสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ต้นทุนที่เกิดกับสิ่งแวดล้อม ต้นทุนที่เกิดกับสังคม แต่แน่นอนว่าการที่เราจะเปลี่ยนพฤติกรรม ราคาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมได้

ปัจจัยที่ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรม หนึ่งคือ ความตระหนักรู้ (awareness) ถ้าเราไม่มีข้อมูล ไม่ได้ตระหนักว่าสินค้ามาจากไหน ส่งผลกระทบอะไรบ้าง แน่นอนว่าเราไม่คิดจะเปลี่ยนแน่ แต่ถ้ามีแล้วคิดจะเปลี่ยนทันทีไหม สิ่งที่เราค้นพบคือมีแล้วไม่เปลี่ยน ที่อังกฤษเคยทำวิจัยประมาณช่วงปี 2000 พบปรากฏการณ์ที่เรียกว่า 30 ต่อ 3

คือเขาทำแบบสำรวจ สอบถามผู้บริโภคว่าถ้าสินค้าที่รักษ์โลกแพงกว่าเดิมประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์คุณยินดีจะซื้อไหม คนจำนวน 30 เปอร์เซ็นต์ตอบว่ายินดี แต่ปรากฏว่าสินค้าประเภทนี้ ยอดขายหรือส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นแค่ 3 เปอร์เซ็นต์ ไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่คนตอบ ซึ่งคนอาจไม่ได้โกหกแต่มีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนพฤติกรรมของเราด้วย เช่น ราคา วัฒนธรรม บรรยากาศของตลาด การเข้าถึงสินค้า สมมติอยากได้ชาที่มีตรากบ แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตแถวบ้านไม่มี เป็นต้น

ดังนั้นปัจจัยต่อมาคือ facilitator หรือผู้อำนวยความสะดวก ซึ่งอาจมาในรูปแบบของกฎหมาย ข้อบังคับ หรือแม้แต่บรรยากาศของสังคม ยกตัวอย่างตอนเราไปเรียนที่สวีเดน ทุกคนพกถุงผ้าของตัวเอง ไม่รับถุงพลาสติก เราก็รู้สึกมีความกดดันนิดๆ ว่าเราต้องพกด้วย

ปัจจัยสุดท้ายคือ infrastructure โครงสร้างที่เกื้อหนุนต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม สมมติพกขวดน้ำ แต่ไม่มีน้ำให้เติม สุดท้ายก็ต้องซื้อน้ำขวดอยู่ดี หรืออยากให้คนสัญจรโดยจักรยาน แต่ไม่มีทางที่ดีพอ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมได้ การเปลี่ยนพฤติกรรมจึงประกอบไปด้วยสามเรื่องนี้เป็นหลัก

ในทางกลับกัน ถ้าไม่มีความตระหนักรู้เลยตั้งแต่เริ่มจะเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรมไหม จริงๆ เกิดได้ ลองนึกภาพในโลกที่ทางเลือกที่ยั่งยืนเป็นทางเลือกที่ง่ายที่สุด ถูกที่สุด สะดวกที่สุด ต่อให้เป็นคนที่ไม่ได้สนใจสิ่งแวดล้อมเลยก็จะเลือกทางนี้ เพราะฉะนั้นความตั้งใจของเราอย่างเดียวอาจจะไม่พอ ต้องได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ นโยบาย หรือโครงสร้างพื้นฐานก็ควรส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราท้ายที่สุด ถ้าทางเลือกนั้นง่าย สบาย ถูก สมเหตุสมผล เราก็จะเลือกทางนั้นเอง

ตัวอย่างมาตรการจากภาครัฐที่ช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนพฤติกรรมมีอะไรบ้าง

ต่างประเทศเขามีการเก็บเงินค่าถุงพลาสติก ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการทำให้เราเปลี่ยนพฤติกรรมได้เหมือนกัน ผลที่เกิดขึ้นกับประเทศอื่น เขาพบว่าปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงเยอะหลังจากเรียกเก็บ ในไทยคุยกันมาสักพักหนึ่งแล้วเรื่องของการเก็บค่าถุงพลาสติก การเก็บเงินอะไรสักอย่างเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนโยบาย และการจัดสรรเงินที่เก็บว่าจะนำไปทำอะไร ซึ่งเข้าใจว่ายุ่งยากพอควร แต่ว่าน่าจะเริ่มทำได้แล้ว ส่วนตัวเองก็คิดว่าน่าจะเห็นการเก็บเงินในระยะเวลาอันใกล้นี้

เราเข้าใจว่าทุกคนน่าจะมีถุงผ้าอยู่ที่บ้าน แต่ไม่ค่อยเห็นใครพกมาใช้เท่าไร เรื่องนี้ก็อยากรู้เหมือนกันว่าอุปสรรคในการใช้ถุงผ้าคืออะไร เพราะสำหรับเราที่พกอยู่ไม่คิดว่าลำบากอะไรเลย

มีตัวอย่างของการเปลี่ยนพฤติกรรมที่สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมไหม

คำถามที่เราได้ยินอยู่บ่อยๆ คือคนตัวเล็กๆ หนึ่งคนจะสร้างอะไรได้ นี่เป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากต่อการเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าคนไม่คิดว่าพฤติกรรมของตัวเองมีความหมายก็จะไม่ทำ

ทีนี้ ตัวอย่างที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหายากมากเลย (หัวเราะ) แต่มันมี อย่างเมืองไทยเมื่อ 2-3 ปีก่อนมีกรณีรณรงค์อย่ากินปลานกแก้วเพราะปลานกแก้วมีคุณประโยชน์ต่อทะเล ซึ่งเกิดจากการตั้งแคมเปญใน change.org หลังจากนั้นไม่กี่สัปดาห์ 5 ห้างใหญ่ก็ประกาศว่าจะไม่ขายปลานกแก้วต่อไปแล้ว

ปัจจัยอะไรที่ทำให้แคมเปญนี้ประสบความสำเร็จ หนึ่งคือเป็นเรื่องของการให้ข้อมูลที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ทำให้คนเข้าใจได้ง่าย สองคือเป็นการสื่อสารที่ติดลม มีประสิทธิผล คนแชร์ต่อไปเรื่อยๆ และสุดท้ายเป็นเรื่องความกดดันของผู้ผลิตด้วยกันเอง พอ Tops ประกาศยกเลิก Macro Tesco ก็ต้องประกาศตาม

อาจเป็นเพราะว่าคนไม่กินปลานกแก้วอยู่แล้วหรือเปล่า 

ใช่ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปลานกแก้วไม่ใช่อาหารหลัก แต่เมื่อดูว่ามีแนวโน้มจะบริโภคกันเยอะ ก็เป็นการตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ถ้าถามว่าทำแบบนี้กับไก่หรือหมูได้หรือเปล่าก็อาจจะยากกว่า

พฤติกรรมการกินเนื้อสัตว์ในชีวิตประจำวัน เช่น การกินเนื้อวัว สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

มีข้อค้นพบว่าถ้าเทียบการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตเนื้อสัตว์แต่ละชนิด มากที่สุดคือเนื้อแกะ รองลงมาเป็นเนื้อวัว แล้วก็หมู ไก่ ปลา

บางคนไม่ทานเนื้อวัวด้วยเหตุผลเช่น ละสัตว์ใหญ่ หรือด้วยความเชื่อนับถือเจ้าแม่กวนอิม ซึ่งก็ดี แต่เป็นไปได้ไหมที่จะเลิกกินด้วยเหตุผลทางสิ่งแวดล้อม เพราะเนื้อวัว 100 กรัมปล่อยก๊าซเท่ากับการขับรถไป 10 กิโลเมตร  ในฟาร์มวัว ตดวัวเป็นก๊าซมีเทนซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก นอกจากนั้น กระบวนการการผลิตอาหารสัตว์ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งตอนนี้มีงานวิจัยเกี่ยวกับการนำสาหร่ายแดงมาเป็นอาหารวัวเพื่อช่วยลดผลกระทบตรงนี้

ต่อให้เลี้ยงแบบปล่อย ให้วัวกินหญ้า ปลอดยาปฏิชีวนะนั่นอาจจะส่งผลดีต่อสุขภาพเรา แต่ในแง่ของสิ่งแวดล้อม การเลี้ยงสัตว์แบบปล่อยให้วิ่งอย่างอิสระ จะต้องใช้พื้นที่มากกว่าเดิม รวมถึงการใช้น้ำ ใช้อาหาร หรือเกิดปัญหาแย่งชิงที่ดินกันในชุมชน ดังนั้นสำหรับคนรักเนื้อ เราอาจจะเลิกกินสักอาทิตย์ละสองวัน กินมังสวิรัติบ้าง ถ้าพอจะทำได้

ธุรกิจผลิตภัณฑ์รักษ์โลกของคุณเริ่มต้นอย่างไร

เริ่มมาจากตอนที่ทำวิจัยเรื่องของการบริโภค จริยธรรม และความยั่งยืน อย่างที่กล่าวไปว่าเรารู้ว่าการทำให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมมีปัจจัยเยอะมาก กอปรกับช่วงนี้พูดถึงเรื่องพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวกันมาก เราเลยคิดว่าน่าจะมีอะไรมาทดแทนได้ในบางกรณีที่เราต้องใช้ เช่น หลอดดูดน้ำ บางคนมีเหตุผลจำเป็นในการใช้หลอด เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก หรือกรณีที่กังวลเรื่องความสะอาด หลอดก็อาจจำเป็นอยู่ แต่ด้วยความที่หลอดมีขนาดเล็ก จัดเก็บยาก ดังนั้น ถึงจะขายของแต่ก็ขอเชียร์ให้ใช้แบบที่นำกลับมาใช้ใหม่ได้จะดีกว่า อย่างหลอดของ ReReef เราก็คาดหวังว่าคุณมาซื้อแล้วจะไม่กลับมาซื้อของเราอีก ควรจะใช้ให้ยาวๆ

หรือทางเลือกเรื่องแปรงสีฟันอย่างที่เราทำคือเป็นด้ามไม้ไผ่ ตัวขนแปรงพยายามเพิ่มสัดส่วนที่เป็นเส้นใยจากไผ่ ผสมกับไนลอน ไผ่นี้ก็เป็นไผ่ปลูก ก็ช่วยลดผลกระทบเรื่องขยะพลาสติกได้

การเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติเหล่านี้ เทียบได้กับการย้อนกลับไปใช้ชีวิตในสมัยโบราณหรือไม่

อันที่จริงหลายอย่างก็เหมือนกับการย้อนกลับไปสู่ชีวิตโบราณ อย่างหลอดดูดน้ำ สมัยก่อนชิ้นแรกที่ผลิตมาเป็นก้านธัญพืช เอามาใช้แล้วยุ่ยจึงเปลี่ยนเป็นกระดาษ แล้วค้นพบพลาสติกเลยเปลี่ยนมาใช้พลาสติก จนปัจจุบันพลาสติกมีปัญหาก็มีคนกลับไปปลูกธัญพืชแบบเก่าเอามาทำหลอด เช่น ก้านมะละกอ ก้านตะไคร้ เพื่อหาทางออกที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยลง

การใช้วัตถุดิบที่ย่อยสลายได้มันก็ดี แต่ต้องไม่ลืมนึกถึงเรื่องจำนวนประชากรที่อยู่ในโลกตอนนี้ ด้วยปริมาณที่มหาศาล ต่อให้ใช้วัตถุดิบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มันก็มหาศาลอยู่ดี บางสิ่งจึงเปลี่ยนอย่างเดียวไม่พอ ต้องขอให้ลดก่อน เพราะต่อให้เป็นวิธีที่ดี ที่ยั่งยืน ก็เป็นการใช้ทรัพยากรอยู่ดี

ในหนังสือของ E.O. Wilson เสนอว่าสิ่งที่มนุษย์ต้องทำเพื่อช่วยโลกในตอนนี้คือย้ายออกจากเขตร้อนให้หมด รักษาพื้นที่ป่าและความหลากหลายทางชีวภาพ แนวคิดสุดขั้วแบบนี้ กับแนวคิดการเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ทีละเล็กทีละน้อย แบบไหนจะช่วยโลกได้ทันเวลา 

ในเรื่องความคิดที่สุดขั้วจะนึกไปถึงวาทกรรมสมัยก่อนที่มีข้อพิพาท เช่น เอาคนไม่เอาป่า เอาป่าไม่เอาคน มาถึงปัจจุบันมีวิธีที่เอาทั้งคนทั้งป่าได้ มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติหรือการจัดการพื้นที่หลายวิธี ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละที่ว่าจะใช้การจัดการแบบไหน อย่างเช่น พื้นที่ป่าต้นน้ำที่ไม่ควรแก่การเข้าไปประกอบกิจกรรมใดๆ ทั้งสิ้น ก็ควรจะอนุรักษ์ไว้เป็นป่า แต่บางพื้นที่ที่พออะลุ้มอล่วยให้กับคนท้องถิ่นที่อยู่มาก่อนได้ก็เป็นเรื่องของการจัดการโดยชุมชน เป็นต้น

เท่าที่ผ่านมาก็มีหลักฐานที่แสดงถึงความสำเร็จ เช่น เคสของฟิลิปปินส์ที่เป็นเกาะกลางทะเล ชาวบ้านจับปลาจนทะเลเสื่อมโทรม ปะการังตาย ก็มีนักวิชาการจากภายนอกเข้าไปทำพื้นที่คุ้มครองให้ฟื้นตัว พอปลากลับมาก็เปลี่ยนเป็นการจัดการโดยชุมชน ดังนั้นการจัดการเรื่องอนุรักษ์พื้นที่ต้องแล้วแต่บริบท ว่าพื้นที่นั้นมีความจำเป็นอย่างไร ส่งผลกระทบอย่างไร ควรใช้การจัดการแบบไหน

เราไม่สามารถเปลี่ยนโลกด้วยวิธีที่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นได้ เพราะฉะนั้นต้องใช้การเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ละความสะดวกสบายไปบ้าง แต่ก็ไม่ได้มากจนเกินไป และที่สำคัญคือเราต้องมีความตระหนักรู้ก่อน ว่าชีวิตประจำวันเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

เราต้องให้ความหวังกับตัวเอง และกับทุกคนว่าเราต้องเริ่มเปลี่ยนแล้ว ทันไม่ทันเราก็ทำเต็มที่ของเรา

ReReef x The101.world

#OneonOne #ReReef #101World

 

 

Back to blog