ขยะพลาสติกกำลังฆ่าปะการัง
ข่าวใหญ่ทั่วโลกวันนี้คืองานวิจัยที่เพิ่งตีพิมพ์ในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดัง Science ซึ่งพบว่าปะการังในเอเชีย-แปซิฟิก กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากขยะพลาสติกในทะเลกว่าหมื่นล้านชิ้น และมีส่วนสำคัญทำให้เกิดโรคในปะการังเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่า
นักวิทยาศาสตร์นำทีมโดย Joleah Lamb แห่งมหาวิทยาลัย Cornell และ James Cook University และคณะได้มีการเก็บข้อมูลปะการัง 159 แห่งในประเทศไทย พม่า อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย โดยศึกษาสุขภาพของปะการังกว่า 124,000 โคโลนี พร้อมกับสำรวจการปรากฏของขยะพลาสติกที่มีขนาดใหญ่กว่า 0.5 เซนติเมตร
ปะการังที่ไม่พบพลาสติกมีโอกาสเป็นโรคราว 4% ในขณะที่ในปะการังที่พบขยะพลาสติกมีโอกาสเป็นโรคสูงถึง 89% โรคที่พบหลายโรคเช่น White Syndrome Black band Syndrome อาจฆ่าปะการังทั้งกอได้อย่างรวดเร็ว
คณะวิจัยสันนิษฐานว่าขยะพลาสติกชิ้นเล็กๆอาจเป็นตัวนำโรคสำคัญ ในขณะที่ขยะชิ้นใหญ่อาจทำให้เกิดการแตกหัก เกิดบาดแผล บดบังแสงแดด หรือทำให้เกิดภาวะอ๊อกซิเจนต่ำ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสภาวะที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค
“ปะการังเป็นสัตว์เหมือนกับเรา และมีเนื้อเยื่อที่บอบบางมาก จึงเกิดบาดแผลและติดเชื้อได้ง่าย ยิ่งถ้าสัมผัสกับขยะพลาสติกที่เต็มไปด้วยเชื้อโรคสารพัด” Joleah กล่าว
ผลการสำรวจพบขยะพลาสติกแทบในทุกแนวปะการัง โดยพบมากที่สุดที่อินโดนีเซีย ราว 26 ชิ้นต่อพื้นที่ปะการัง 1,000 ตารางเมตร และน้อยที่สุดคือออสเตรเลียที่มีการจัดการขยะดีที่สุด
งานวิจัยชิ้นนี้ประเมินว่าในปัจจุบันมีขยะพลาสติกในแนวปะการังมากถึง 1 หมื่น 1 พันล้านชิ้นในเอเชียแปซิฟิก และคาดว่าจะมีขยะเพิ่มขึ้นอีก 40% ใน 7 ปีข้างหน้า หมายความว่าจะขยะพลาสติกในแนวปะการังมากถึง 1 หมื่น 6 พันล้านชิ้นในปี 2025
ประเทศไทย และ อินโดนีเซีย เป็นหนึ่งในประเทศที่สร้างขยะทะเลมากที่สุดในโลก ผลงานวิจัยชิ้นนี้เปิดเผยถึงผลกระทบสำคัญต่อแนวปะการัง ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าและมูลค่ามหาศาลในแง่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยว
Dr James True แห่งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ หนึ่งในผู้ร่วมวิจัยในครั้งนี้ เสริมว่า “นี่เป็นข่าวร้ายล่าสุดของปะการังที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากหลากหลายด้าน ทั้งประมงผิดกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ฟอกขาว แต่เราสิ้นหวังไม่ได้ ข่าวดีก็คือปะการังหลายแห่งในประเทศไทยแสดงให้เห็นว่ามีศักยภาพในการฟื้นตัวได้ดี เราจึงต้องยิ่งเน้นการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
อ้างอิง: Lamb et al. 2018. Plastic waste associated with disease on coral reefs. Science. 26 Jan 2018: Vol. 359, Issue 6374, pp. 460-462
อ่านงานวิจัยเต็ม https://goo.gl/QWJztE